การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาการประยุกต์ใช้มาตรฐาน ISO/IEC 29110 ของผู้ผลิตซอฟต์แวร์ในประเทศไทย เพื่อการบริหารโครงการด้านการผลิตและการพัฒนาซอฟต์แวร์ ในด้านข้อกำหนดโครงการ แผนการดำเนินโครงการ ความก้าวหน้าของโครงการ การขอเปลี่ยนแปลงความต้องการ การทบทวนการประชุม ความเสี่ยง กลยุทธ์ในการควบคุมรุ่นของซอฟต์แวร์ และการรับประกันคุณภาพของซอฟต์แวร์ 2) ประเมินผลเชิงดุลยภาพของผู้ผลิตซอฟต์แวร์ในประเทศไทย ด้วยการวัดผลแบบสมดุล 4 มุมมอง คือ การเงิน ลูกค้า กระบวนการภายใน และการเรียนรู้และการเจริญเติบโต การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ ใช้กรอบมาตรฐาน ISO/IEC 29110 และการประเมินผลเชิงดุลยภาพ (Balance Scorecard) เป็นทฤษฎีหลักในการออกแบบการวิจัย ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้ประกอบการผลิตซอฟต์แวร์ในประเทศไทย จำนวน 79 บริษัท ซึ่งได้ตอบและส่งแบบสอบถามกลับคืนมาครบเต็มจำนวน (ร้อยละ 100.00) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ก) สถิติพื้นฐานคือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ ข) สถิติอ้างอิงเพื่อทดสอบสมมติฐานคือ สถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์อีตะ เพียร์สัน (Eta Coefficient Test) สถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน (Pearson Correlation Coefficient) และสถิติสหสัมพันธ์คาโนนิคอล (Canonical Correlation) ผลการศึกษาพบว่า ลักษณะบริษัท รูปแบบการจดทะเบียนบริษัท การได้รับการรับรอง ISO/IEC 29110 มีความสัมพันธ์กับการประยุกต์ใช้มาตรฐาน ISO/IEC 29110 ในการบริหารจัดการโครงการด้านการผลิตและการพัฒนาซอฟต์แวร์ และการประยุกต์ใช้มาตรฐาน ISO/IEC 29110 ในการบริหารจัดการโครงการด้านการผลิตและการพัฒนาซอฟต์แวร์มีความสัมพันธ์กับปัจจัยการประเมินผลเชิงดุลยภาพในด้านมุมมองด้านการเงิน ลูกค้า กระบวนการภายใน และการเรียนรู้และการเจริญเติบโต ผู้ประกอบการสามารถนำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้ในมิติการบริหารจัดการเชิงดุลยภาพในโครงการผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์ได้อย่างแม่นตรง ก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการเพิ่มพูลผลผลิต
The objectives of this research are to 1) study the application of ISO/IEC 29110 to manage software projects of Thai software companies in terms of project limitations, planning, progresses, change requests, revision meetings, risks, software version control strategy, and quality insurance of the software, and 2) assess the companies using four balanced scorecard perspectives: finance, customers, internal operations and learning & growth. This study uses quantitative research to create a research design using ISO/IEC 29110 and a balanced scorecard. Questionnaires were the research tools gathering data from 79 software development companies. All companies completed and returned the questionnaires (100.00%). Statistics used for analyzing data from the questionnaires are a) descriptives (percentage, arithmetic mean, standard deviation), b) inferential statistics are Eta, Canonical, Pearson correlation. The study showed that coes’ characters, registered form, and ISO/IEC 29110 certified correlate to the application of ISO/IEC 29110 in software project management. In addition, the application of ISO/IEC 29110 relates to the four perspectives of the balanced scorecard: finance, customers, internal processes, and learning and growth. Thai Software Companies can accurately apply the research findings to the equilibrium management dimension in software production. Create efficiency and effectiveness increasing productivity.
ดาวน์โหลด Full Paper