สภาพและปัญหาการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ในการส่งเสริมการใช้บริการสารสนเทศของห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

State and Problems of Public Relations Operations to Promote the Use of Information Services of Private University Libraries

บทคัดย่อ

        การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ของห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน และศึกษาปัญหาการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ของห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจ กลุ่มตัวอย่างของการวิจัย คือ 1) ผู้ใช้บริการห้องสมุดในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 400 คน ซึ่งกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางของเครจซี, และมอร์แกน (Krejcie, & Morgan, 1970, pp. 607-610) ที่กำหนดไว้ว่าประชากรตั้งแต่ 100,000 คนขึ้นไป ขนาดของกลุ่มตัวอย่างเท่ากับ 384 คน โดยสุ่มกลุ่มตัวอย่างได้จำนวน 400 คน 2) ผู้บริหาร/ผู้ปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์ ประกอบด้วย ผู้บริหารห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน และผู้ปฏิบัติงาน  ด้านการประชาสัมพันธ์ห้องสมุด สถาบันอุดมศึกษาเอกชน รวมจำนวน 15 คน โดยใช้วิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ทั้งนี้ ผู้วิจัยเลือกศึกษาห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่เป็นต้นแบบของการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ห้องสมุด จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1) สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยรังสิต 2) ศูนย์เรียนรู้และหอสมุด มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 3) สำนักหอสมุดและศูนย์การเรียนรู้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ  4) สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยศรีปทุม และ 5) สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี 
         ผลการวิจัย พบว่า 
         1. การเปิดรับข่าวสารการประชาสัมพันธ์ของห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ผู้ใช้บริการมีความคิดเห็นในประเด็นต่อไปนี้ กล่าวคือ ผู้ใช้บริการเห็นว่าสภาพภูมิทัศน์และสถานที่ของสมุดสวยงาม บรรยากาศเหมาะสมต่อการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์มากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 3.54) ส่วนในด้านการรับรู้ข่าวสารการประชาสัมพันธ์ กิจกรรมประชาสัมพันธ์ และบริการของห้องสมุดนั้นพบว่า มีการรับรู้ผ่านสื่อประเภทป้ายประชาสัมพันธ์และโปสเตอร์มากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 3.42)
        2. สภาพการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ของห้องสมุดซึ่งจำแนกตามกระบวนการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ กล่าวคือ ด้านการวิจัย/การสำรวจข้อมูลการประชาสัมพันธ์เพื่อนำมาเป็นข้อมูลพิจารณาประกอบการดำเนินงานประชาสัมพันธ์พบว่า ห้องสมุดมีการศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมการให้บริการสารสนเทศเพื่อนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนงานและการดำเนินงานประชาสัมพันธ์มากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 4.27) ด้านการวางแผนการประชาสัมพันธ์พบว่า ห้องสมุดมีการกำหนดผู้รับผิดชอบการดำเนินงานประชาสัมพันธ์มากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 3.80) ด้านการสื่อสาร/การดำเนินงานประชาสัมพันธ์พบว่า ห้องสมุดมีการเผยแพร่ข่าวสาร กิจกรรมประชาสัมพันธ์ และบริการผ่านเว็บไซต์ห้องสมุดที่เป็นทางการมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 4.47) ด้านการประเมินผลการประชาสัมพันธ์พบว่า ห้องสมุดมีการประเมินผลการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ด้วยแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้ใช้บริการผ่านระบบออนไลน์มากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 3.73)
        3. ปัญหาการดำเนินงานประชาสัมพันธ์ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน โดยศึกษาจากผู้ใช้บริการ ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์ห้องสมุด ผลการวิจัยปรากฏว่า ปัญหาที่ผู้ใช้บริการพบมากที่สุด คือ การประชาสัมพันธ์ข่าวสารและกิจกรรมของห้องสมุดไม่ทั่วถึง (ค่าเฉลี่ย 3.09) ส่วนปัญหาที่ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์ห้องสมุดพบมากที่สุด คือ ผู้ปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์ของห้องสมุดโดยส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์การทำงานประชาสัมพันธ์ (ค่าเฉลี่ย 3.33)

Abstract

        The purpose of this study is to study the operating conditions of public relations and problems of the operation of public relations in the libraries of Private Universities by using survey research method. The respective samples are; 1) 400 library users in Semester 1 of Academic Year 2019 are randomly selected, determined by using Krejcie and Morgan table scale (1970, pp.607-610) that the population of 100,000 will be represented by the sample of 384, 2) the administrators/public relations practitioners which consists of 1 administrator and 2 library public relations practitioners for each library (Total 15 people). The method of selection is specified from the 5 libraries of the private higher education institutions with outstanding in public relations: 1) The library of Rangsit University 2) The library of Dhurakij Pundit University 3)The library of Bangkok University 4) The library of Sripatum University 5) The Academic Resource Center of Bangkokthonburi University.
         The result indicated as follows;
        1. In term of the news exposure to the public relations, the users have the opinions that the landscape and location of the library are beautiful. The atmosphere is suitable for organizing public relations activities in the highest priority (mean 3.54). In term of receiving news and public relations activities, it is found that the users receive the news, public relations activities and the library's services through publicity signs and posters are the highest order (mean 3.42).
        2. Operating conditions for public relations of the library was classified by the public relations process which are Research/Public Relations Survey to be considered with the public relations operation. It was found that the library has researched the guidelines to promote the library’s information services to be used as basic information in planning and operating public relations as the highest priority (mean 4.27). In terms of public relations planning, it was found that the responsible person for public relations operation was determined by the library in the highest order (mean 3.80). For Communication/Public relations operations, it was found that the dissemination for news, public relations activities and the services of the library via official website is the highest order (mean 4.47). The evaluation of public relations was found that the highest order is to evaluate the library publicity through online questionnaire (mean 3.73).
         3. In terms of the problem of public relations in the libraries of Private Universities the respective samples of users, the administrators, public relations practitioners, it was found that the most common problem is the public relations have not been thorough enough (mean 3.09). And the public relations problems from the respective samples of the library administrators and public relations practitioners found that the highest priority problems of public relations practitioners are inexperienced. 
 

ดาวน์โหลด Full Paper